A World of Married Couple (Viu Netflix) รีวิวพร้อมเปรียบเทียบเนื้อหาบางส่วนจากต้นฉบับ Doctor Foster และกับละครไทย พร้อมเหตุผลที่ซีรีส์เรื่องนี้มีความแตกต่างจากละครไทยในแนวผัวเมียตีกัน จนตอนนี้กลายเป็นสถิติแชมป์เรตติ้งสูงสุดตลอดกาลของเคเบิลทีวีไปแล้ว อัพเดทลง Netflix แล้ว
บทความมีสปอยล์เนื้อหาบางส่วน แต่ไม่ใช่จุดหักมุมของเรื่อง
ซีรีส์ที่เรตติ้งแรงสุดและสูงที่สุดในตอนนี้ เมื่อเกาหลีซื้อ Doctor Foster ซีรีส์จากช่อง BBC One ของอังกฤษมารีเมค แปลงบริบททางสังคมต่างๆ ให้เข้ากับเกาหลี มีความเป็นเอเชียมากขึ้น ซึ่งตัวเรื่องเล่าสั้นๆ ก็คือ ชีวิตครอบครัวสมบูรณ์แบบของหมอหญิง “จีซอนอู” (รับบทโดย Kim Hee-Ae) กับผู้กำกับหนุ่ม “อีแทโอ” (รับบทโดย Park Hae-Joon) ต้องพังทลายลงเมื่อเธอได้รับรู้ว่าสามีแสนดีของเธอมีผู้หญิงคนอื่น “ดาคยอง” (รับบทโดย Han So-Hee) หญิงสาวสวยลูกคนเดียวของเจ้าของกิจการใหญ่ในเมืองเล็กๆ แห่งนี้ เธอก็เลยต้องพยายามตัดเขาออกจากชีวิตและต้องรักษาลูกไว้ให้ได้ แต่เรื่องมันไม่ง่ายเมื่อสามีของเธอก็ร้ายกาจกว่าที่คิด และพร้อมเปิดศึกแย่งลูกชายคนเดียว “อีจุนยอง” (รับบทโดย Jeon Jin-Seo) ซึ่งก็มีปมในใจเรื่องพ่อแม่มีปัญหา จนกลายปมทางจิตที่รอวันระบิดอยู่เช่นกัน
พูดกันตรงๆ พล็อตของเรื่องนี้ไม่ได้ต่างอะไรจากละครไทยเลยแม้แต่น้อย แต่สิ่งที่เรื่องนี้ทำได้ดีกว่าคือการใส่เหตุของการกระทำและผลลัพธ์ของการกระทำที่มีความน่าเชื่อถือมากกว่า ตรงนี้อาจจะต้องทำความเข้าใจลอจิควิธีคิดของขนบธรรมเนียมละครไทยมาก่อนด้วยว่า ละครไทยเน้นโอเว่อร์ทั้งแอ็กติ้งและบทหลายอย่างที่ดูเกินจริง อย่าง แรงเงาที่ฝาแฝดสวมรอยแก้แค้นแทนกัน หรือการทรมานทรกรรมนางเอก ก่อนจบด้วยยังไงก็รักกัน ซึ่งก็ไม่ผิดเพราะเป็นสูตรสำเร็จของไทยที่คนดูส่วนใหญ่ทางทีวีก็ชื่นชอบแบบนี้อยู่แล้ว (วัดจากเรตติ้งก็จะเห็นชัด) แต่สำหรับกลุ่มดู Gen ใหม่ๆ ก็อาจจะยี้เมื่อต้องมาดูละครไทยอะไรแบบนี้ แต่แท้ที่จริงแล้วเรื่องแบบครอบครัวผัวเมียเป็นอะไรที่ใกล้ตัวคนดูแทบทุกเพศทุกวัยได้ทั้งนั้น เพราะมันเป็นเรื่องจริงที่มีอยู่แล้ว แค่ละครหรือซีรีส์นำมาแต่งใหม่ให้แซ่บขึ้นไปอีก ซึ่งในกรณีของ A World of Married Couple นี้ก็คือเกาหลีหยิบยกเรื่องแนวเดียวกับที่ละครไทยชอบทำ แต่มาเป็นในแบบที่ลอจิควิธีคิดละเอียดขึ้น แล้วก็ใส่ความร้ายลึกลงไปในทุกมิติของตัวละครทุกตัว (ย้ำว่าทุกตัว) พร้อมทั้งขยายโลกของชีวิตแต่งงานในด้านที่ไม่สวยหรูออกมาให้คนดูได้เห็นกันแบบเป็นเหตุผลมากกว่าที่ละครไทยติดโอเว่อร์นิยมทำกัน
วิธีคิดและการกระทำที่ไม่ปกติของสองตัวเอก A World of Married Couple
จุดเด่นของเรื่องนี้ที่สุดก็คงเป็นวิธีคิดและการกระทำของตัวเอกทั้ง 2 คน จีซอนอูกับอีแทโอ ที่ต้องเรียกว่า “หญิงก็ร้าย ชายก็เลว” แม้คนดูอาจจะเอาใจช่วยจีซอนอูในฐานะนางเอกที่ถูกกระทำก่อน แต่การโต้กลับและแผนการหลายๆ อย่างของเธอก็เกินคนปกติทำเหมือนกัน ขนาดที่เชื่อว่าผู้ชายที่มีครอบครัวดูเองก็อาจจะเสียวๆ ว่าถ้านอกใจแฟนก็อาจจะเจอแบบนี้ได้ ซึ่งในกรณีของเธอตัวเรื่องมีปูเหตุผลไว้ลึกๆ เกี่ยวกับปมทางจิตใจที่เธอเองก็เคยประสบเหตุการณ์บางอย่างเกี่ยวกับปัญหาครอบครัวของพ่อแม่มาเหมือนกัน นั่นทำให้เธอกลายเป็นเหมือนคนสติหลุดอยู่บ่อยๆ ที่แม้แต่ลูกก็ยังกลัวที่แม่กลายมาเป็นแบบนี้ไปได้ รวมถึงการถูกหักหลังจากคนรอบข้างก็มีส่วนทำให้ตัวละครนี้ลึกๆ กลายเป็นคนจิตใจไม่ปกติไปในที่สุด
ในเมื่อนางเอกกลายเป็นกึ่งๆ ตัวร้ายไปในตัว อีแทโอผู้เป็นสามีก็เลยร้ายไม่แพ้กัน จากความเลวเรื่องนอกใจภรรยาแสนดี ก่อนจะกลายมาเป็นความอาฆาตพยาบาทเมื่อชีวิตที่เขาต้องพึ่งภรรยามาตลอดต้องพังทลายลง เว้ากันซื่อๆ คือเขาเป็นพวก “เกาะผู้หญิงกิน” และก็ย้ายไปเกาะคนใหม่ที่ทั้งสาว สวย รวย ครอบครัวมีอิทธิอย่างสูงกับเมืองเล็กๆ แห่งนี้ แต่แค่นั้นไม่พอบทสร้างให้แทโอเลวร้ายลึกแบบจอมวางแผน แม้เขาอาจจะไปได้ดีกับคนใหม่ แต่กับคนเก่าที่เคยทำอะไรเขาไว้ รวมถึงคนที่เกี่ยวข้องช่วยเมียเก่าเขาไว้ก็ต้องเจอการล้างแค้นทั้งหมดเช่นกัน ทำให้ปัญหาของครอบครัวนี้ใหญ่โตลุกลามขึ้นเรื่อยในเมืองเล็กๆ ที่ใครๆ ก็รู้จักเจอหน้ากันทุกวัน ซึ่งจุดนี้แหละที่ทำให้ซีรีส์เรื่องนี้ดุเด็ดเผ็ดมันส์ด้วยการแก้แค้นไปมาไม่จบสิ้นของสองตัวละคร ที่กลายเป็นทิ้งบอมบ์ความปั่นป่วนให้กับทั้งเมืองได้อย่างไม่น่าเชื่อ แต่ก็ยังอยู้ในกรอบของความเป็นไปได้ มีเหตุผลรองรับเป็นปมลึกๆ ทางจิตใจตัวละครที่มีปัญหาหย่าร้างกัน
ลงลึกถึงรายละเอียดปมปัญหาในจิตใจของโลกการแต่งงานและคู่รัก
ปมทางจิตของเรื่องนี้เองที่เป็นส่วนเสริมที่เรียกว่าดีงามกว่าละครไทยตรงที่ ตัวเรื่องเผยให้เห็นมุมจากด้านมืดที่ส่งผลทำให้ตัดสินใจแก้ปัญหาผิดซ้ำๆ ของตัวละครทุกตัว อย่างนางเอกถ้าไม่หลุดร้ายกลับไปแรงเกินกว่าแค่หย่าร้างในตอนแรก เรื่องก็คงไม่เลยเถิดมาขนาดนี้ แต่ด้วยความรู้สึกในแบบมนุษย์ผู้หญิงที่ดีเพียบพร้อมทุกอย่าง แต่กลับถูกนอกใจมันก็เจ็บแค้นยากเกินกว่าจะทนได้ ทำให้เราเข้าใจได้ว่าถ้าเกิดกับตัวเองก็คงยากที่จะคุมไว้เหมือนกัน หรืออย่างมุมของอีแทโอที่มองแบบเป็นความรัก อยากครอบครองไว้ทั้งสองคน กับประโยคเด็ด “การรักใครสักคนไม่ใช่เรื่องผิด” ซึ่งการสร้างโลกสองใบโดยให้ตัวเองมีความสุขคนละแบบ ผู้หญิงอาจจะรู้สึกว่าทนไม่ได้ แต่ในมุมของคนนอกใจกลับรู้สึกว่ามันไม่ใช่เรื่องผิดจริงๆ ในความรู้สึกของเขา แต่แค่มันผิดต่อสังคมที่กรอบคู่รักไว้ด้วยการแต่งงาน ซึ่งซีรีส์ไม่ได้มีมุมแค่ของสองตัวละครหลักนี้ แต่ยังใส่ตัวละครเสริมในเรื่องที่เป็นคนรอบข้างในสังคมที่เกี่ยวข้องกับทั้งคู่ไว้ด้วย ในประเด็นปัญหาคู่รักครอบครัว แต่มีส่วนปลีกย่อยแตกต่างกัน รวมถึงผลลัพธ์คนละแบบแตกต่างจากคู่หลักของเรื่อง ในกรณีของคู่อื่นก็เป็นแบบเมียรู้แต่ยอมให้ผัวมีบ้านน้อย ก็เพื่อรักษาสถานะครอบครัวไว้ หรือไม่ก็ทำเป็นไม่สนใจคิดซะว่าผู้ชายก็แค่ขับถ่ายของเสียอออกมาตามสัญชาตญาณสืบพันธ์เท่านั้น หรือแม้แต่คู่ของวัยรุ่นที่ฝ่ายหญิงถูกทุบตีทารุณ แต่ก็ยังรักและไม่เอาผิดฝ่ายชายเพราะเชื่อว่าจะเปลี่ยนสันดานได้
ซึ่งตัวเรื่องนี้ทำออกมาได้ค่อนข้างครบมากกับปัญหาชีวิตคู่ในด้านที่ไม่สวยงามเลยสักคน และก็สะท้อนปมที่มาปัญหากับแสดงผลลัพธ์เมื่อเวลาผ่านไป ที่แรกๆ อาจจะดูเหมือนแค่พยายามประคับประคองให้ดีก็ผ่านไปได้ แต่อะไรที่มันผิดพลาดไม่ใช่สักวันมันก็หวนกลับมาทำร้ายชีวิตคู่ได้ทั้งนั้น และไม่ใช่แค่ให้เห็นเรื่องราวแค่ฝั่งผู้หญิง แต่ฝั่งผู้ชายก็ได้เห็นเช่นเดียวกันทุกอย่าง เป็นซีรีส์ที่เปิดโลกให้เห็นปมปัญหาและผลลัพธ์ของการสร้างโลกสองใบขึ้นมาค่อนข้างครบทุกฝ่าย แม้จะเกิดจากผู้ชายก่อน แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าผู้หญิงอย่าง “ดาคยอง” ที่ทั้งสาวสวยแต่กลับเห็นผิดเป็นชอบแบบนี้มีจริงๆ ใครมีครอบครัวดูแล้วคงได้ฉุกคิดกันทั้งชายและหญิงแน่นอนครับ (ถ้าไม่เข้าข้างตามใจตัวเองที่ดูนะ)
เมียน้อยผู้อ่อนโลกและซื่อตรงกับความรู้สึก
“ดาคยอง” เป็นตัวละครในบทมือที่สามที่ค่อนข้างแตกต่างไปจากนางร้ายละครไทยมาก แม้ว่าเธอจะมีความร้ายลึกๆ จากการเห็นผิดเป็นชอบในเรื่องนี้ แต่ถ้ามองกันจริงๆ การกระทำต่างๆ ของตัวเธอเองกลับไม่ได้ร้ายเทียบเท่ากับตัวนางเอกจีซอนอูเลย เธอเป็นคนที่แสดงออกตรงๆ มีความรักในตัวแทโออย่างมาก การต่อสู้ของเธอเพื่อให้ได้มาซึ่งความรักกับจีซอนอูก็ค่อนข้างตรงไปตรงมา อีกทั้งยังหวั่นไหวอยู่ตลอดเวลาว่าเขาอาจจะหลอกใช้เธอ แต่ก็ยังเชื่อว่าเขารักเธอมากเช่นกัน ซึ่งด้วยวัย 20 นิดๆ กับฐานะทางบ้านที่มีอิทธิพลและพร้อมช่วยลูกตลอดเวลา ทำให้ตัวละครนี้ดูมีปมจากการโดนสปอยล์เอาใจมาแต่เด็ก จนไปสู่การเห็นผิดเป็นชอบในที่สุด ซึ่งเรื่องก็นำเสนอให้เห็นผลลัพธ์ที่ค่อนข้างเรียลสมจริง ที่แม้จะเหมือนทำชั่วได้ดี แต่ก็ไม่ได้มีความสุขอย่างที่คาดหวังไว้ และบทสรุปสุดท้ายของชีวิตครอบครัวที่แย่งคนอื่นมาก็ไม่ได้เป็นไปอย่างที่เธอตั้งใจไว้เลย
ปัญหาหลังหย่าแล้วตัดเยื่อใยไม่ขาด
ช่วงครึ่งหลังของซีรีส์นำเสนอปัญหาของการตัดไม่ขาด แม้จะหย่าร้างไปแล้ว แต่อะไรๆ หลายอย่างก็ยังคงหลงเหลืออยู่ในจิตใจของทั้งสองฝ่าย ซึ่งในคู่ตัวเอกอาจจะมาในรูปของการแก้แค้นกัน แต่ในคู่รองจะมาในรูปแบบของการพยายามกลับมาเริ่มต้นใหม่ ขอโอกาสใหม่ ซึ่งเป็นสิ่งที่มักเกิดขึ้นของคนที่เมื่อเสียไปจริงๆ ถึงเริ่มคิดได้ แต่แก้วที่ร้าวแล้วก็ไม่สามารถกลับมาต่อติดเหมือนเดิมได้ ตัวเรื่องใส่รายละเอียดชีวิตหลังการหย่าร้างไว้ แล้วกลับยังตัดไม่ขาดได้อย่างละเมียดละไม ซึ่งเมื่อรับชมไปเชื่อว่ามุมมองคนดูเองก็คงรู้สึกกลับมาเห็นใจตัวละครที่กระทำความผิดแล้วสำนึกได้เมื่อสายไปแล้วไม่น้อยเช่นกัน
ถ่านไฟเก่าคุ (สปอยล์บางส่วน EP13-14)
ช่วงก่อนโค้งสุดท้ายของซีรีส์จะพาคนดูไปหาเรื่องราวของถ่านไฟเก่าที่กลับมาคุกรุ่นอีกครั้ง ทั้งในแง่ของการทำดีหมดใจเพื่อขอโอกาสอีกครั้งของคู่รอง เยริม กับ เจฮยอก สามีที่นอกใจและได้รับบทเรียนจากการตัดสินใจหย่าขาด จนกลายเป็นคนละคนหลังจากนั้นเมื่อรู้ว่าตัวเองไม่มีที่ไปอีกแล้วเมื่อแก่ตัวขึ้น เรื่องใช้คู่นี้มาเปรียบเทียบกับคู่เอกของเรื่องจีซอนอูกับแทโอที่กลับด้านไปในทางร้าย เมื่อถ่านไฟเก่าคุจนกลายเป็นย้อนศรกลับไปทำร้ายลูกอย่างไม่ตั้งใจ และก็ลามไปถึงชีวิตคู่ใหม่ของแทโอกับดาคยอง ที่ดูเหมือนวงจรการมีชู้นอกใจหวนกลับคืนสนองเธออีกครั้ง แม้จะแย่งแทโอมาได้แล้วในตอนแรก
การให้อภัยก็กลายเป็นบาดแผลทำร้ายจิตใจได้เช่นกัน (สปอยล์บางส่วน EP15-16 ตอนจบ)
เนื้อเรื่องช่วงโค้งสุดท้ายหนักหน่วงมากจากการที่แต่ละคู่คนที่ทำผิดไปก็พยายามอย่างหนักเพื่อให้ได้รับการให้อภัยและกลับมา เชื่อว่าตัวคนดูเองก็คงรู้สึกเห็นใจตัวละครที่ทำผิดในเรื่องนี้ไม่น้อย แต่อีกด้านก็รู้สึกว่าพวกเขาสมควรได้รับสิ่งนี้แล้ว ตัวเรื่องจึงเลือกเดินไปทั้ง 2 แบบคือ ปลดล็อคให้เห็นเส้นทางของการให้อภัยดูก่อน จากนั้นก็นำเสนอชีวิตหลังจากนั้นที่ตอนแรกดูเหมือนจะสงบสุข และชีวิตคู่ที่ผิดพลาดไปได้รับการแก้ไข แต่เรื่องก็ไม่ได้ให้เห็นแต่ด้านที่สวยหวาน ในเมื่อความเป็นจริงของชีวิตคือ “บาดแผลในใจที่ยังคงอยู่เสมอ” และก็กลายเป็นความรู้สึก ทั้งรัก ทั้งเกลียด ทั้งแค้นตัวเองที่ไม่อาจจะกลับมามีชีวิตคอบครัวที่สวยงามได้เหมือนเดิมได้จริง และบาดแผลจากการให้อภัยนี้เองก็กลายเป็นสิ่งที่ทำร้ายคนอื่นรอบตัวอย่างมากอีกด้วย และก็เป็นจุดเปลี่ยนอีกครั้งของชีวิตคู่รอบสองหลังให้อภัยที่เรียลตามแบบที่เป็นจริงได้ดีมาก
สปอยล์
ตัวละครทุกตัวเทาๆ มีแผนซ่อนในใจ
แม้ว่าเรื่องราวจะมีเหตุผลรองรับการกระทำที่ดูแล้วสมเหตุผลมากพอให้เชื่อ แต่ว่าตัวซีรีส์ก็เหมือนจงใจเขียนบทให้เกินจริงไปเหมือนกัน จากการที่ทุกคนในเรื่องมีปมเดี๋ยวดีเดี๋ยวร้ายกับตัวนางเอกไปซะทุกคน จนบางทีดูเหมือนนางเอกโดนรุมกินโต๊ะจากคนทั้งเมือง แต่มาอีกสักพักตัวละครเดิมกลับเปลี่ยนใหม่มาดีด้วย ซึ่งถ้ามองว่าเป็นการเขียนบทแบบเทาๆ ให้กับทุกตัวละครก็ฟังขึ้นได้ แต่ก็ยังรู้สึกว่าคนอะไรมันจะพลิกไปพลิกมากันได้ขนาดนี้ครับ แต่ก็เป็นจุดเด่นของเรื่องไปด้วยที่ทำให้แม้พล็อตจะง่ายๆ แต่กลับคาดเดาเหตุการณ์ในเรื่องได้ยากว่าจะเกิดอะไรขึ้น เพราะแต่ละคนเหมือนมีแผนในใจกันทั้งหมด แถมยังส่งผลกระทบต่อตัวนางเอกของเรื่องทุกคนด้วย ไม่ใช่แค่เป็นบทเสริมเรื่องรองอะไรแบบนั้น และจุดนี้เองก็เป็นจุดที่แตกต่างจากต้นฉบับ Doctor Foster ด้วยที่เน้นแค่คู่ตัวเอกหลัก แต่เรื่องนี้เน้นผลกระทบจากตัวละครอื่นๆ มาสู่เส้นเรื่องหลักอีกด้วย (จุดที่เริ่มแตกต่างกันมากหลังตอน 8 เป็นต้นไป)
ผู้หญิงโสดกับความเหลื่อมล้ำทางเพศ
ไม่ใช่แค่เรื่องราวของคนมีคู่แต่งงานแล้วเท่านั้น ในเรื่องยังมีประเด็นของการเป็นโสดมาเกี่ยวข้องกับหลายๆ อย่างด้วย ซึ่งถ้าผู้ชายโสดสังคมกลับยอมรับได้เป็นปกติ มีโอกาสก้าวหน้าทางการงานได้ แต่กลับกันพอเป็นเพศหญิงทั้งโสด กลายเป็นถูกประเมิณจากสังคมการทำงานว่าไม่มีความพร้อม ขาดประสบการณ์ครอบครัว ถูกปิดโอกาสก้าวหน้าทางการทำงานไปโดยปริยาย ตรงนี้อาจจะเป็นที่สังคมเกาหลีมีความเชื่อว่าผู้หญิงต้องมีครอบครัวถึงจะสมบูรณ์แบบ ถูกนับหน้าถือตาได้มากกว่าการเป็นโสด แม้จะทำงานเก่งแค่ไหนก็ไม่อาจจะถูกยอมรับได้เท่ากับผู้หญิงที่แต่งงานมีลูกมีสามีจะได้รับการยอมรับมากกว่า
ปมเด็กบ้านแตก
ไม่ใช่เรื่องราวชีวิตคู่สามีภรรยา แต่เรื่องนี้ไล่ลึกลงไปถึงปัญหาเด็กบ้านแตกจากการปัญหาพ่อแม่ ทั้งในส่วนของจีซออูที่มีอดีตพ่อแม่แบบเดียวกัน แม้จะโตมาได้ด้วยตัวเอง แต่ก็มีบาดแผลฝังอยู่ในใจไม่เคยเปลี่ยน ส่วนตัวลูกชายของเธอเองก็ค่อยๆ มีปมทางจิตใจเปลี่ยนเป็นคนก้าวร้าวขึ้นเรื่อยๆ ไม่ยอมรับทั้งพ่อและแม่ เพราะเมื่อมีปัญหาบ้านแตกแยกทางเมื่อไหร่ ลูกก็กลายเป็นสิ่งที่ทั้งสองฝ่ายมักยื้อแย่งไว้กับตัว เหมือนเป็นเครื่องแสดงออกว่าใครได้ลูกไปคนนั้นคือคนชนะ โดยที่ตัวเด็กเองไม่ได้อยากอยู่ในเกมนั้นด้วยเลย ซึ่งตัว Jeon Jin-Seo ที่แสดงเป็นจุนยอง รับบทเด็กมีปมบ้านแตกออกแนวโรคจิตเก็บกดและน่าสงสารได้อย่างยอดเยี่ยมมาก แม้บทอาจจะดูว่ากระทำทำร้ายแม่บ่อยๆ จนดูร้ายกาจเกินจริงไปเหมือนกัน